by Brian MartinMarch 23, 2022
โดย ไบรอัน มาร์ติน
20 มกราคม 2022
คุณเป็นเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจที่ถูกขอให้ไปควบคุม รวมถึงอาจให้ปิดฉากการประท้วงของประชาชน คุณถูกบอกมาว่าผู้ประท้วงกำลังคุกคามความปลอดภัยของสาธารณะและความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณเผชิญหน้ากับพวกเขา สิ่งต่างๆ กลับไม่ชัดเจนนัก มีประชาชนหลายร้อยหรือหลายพันคนอยู่ที่การประท้วงและพวกเขาไม่ได้ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด พวกเขาบอกว่าพวกเขากำลังลุกขึ้นสู้เพื่อคุณค่าที่ประเทศของคุณยึดถือ
ต่อมา คุณเห็นคนไม่กี่คนขว้างหินและทุบหน้าต่าง พวกเขาเป็นตัวแทนของกลุ่มที่ประท้วงอยู่หรือไม่ พวกเขากำลังยั่วยุให้คุณเริ่มใช้กำลังหรือไม่?
ทั่วโลก ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังประท้วงโดยไม่ใช้ความรุนแรงทางกายภาพ
คุณอาจต้องตัดสินใจอย่างปัจจุบันทันด่วนว่าควรทำอย่างไร ดังนั้น การเข้าใจว่าผู้ประท้วงกำลังทำอะไรและเหตุใดจึงมีพฤติกรรมดังที่ปรากฏจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ต่อไปนี้คือข้อมูลพื้นฐานบางประการที่ควรรู้ (จากบทความล่าสุดของผมในวารสาร Security & Defence Quarterly [วารสารความมั่นคงและกลาโหมราย 3 เดือน] เรื่อง Military-protester relations: Insights from nonviolence research [ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและผู้ประท้วง: ข้อคิดจากงานวิจัยเกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรง])
ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงคือวิธีการที่ประชาชนพยายามกระตุ้นส่งเสริมความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมีมากมายหลายวิธีการ ตั้งแต่ การชุมนุม เดินขบวน นัดหยุดงาน คว่ำบาตร และการเข้าไปนั่งประท้วงในพื้นที่ (sit-ins) ปฏิบัติการเหล่านี้จะเป็นวิธีการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางกายภาพหรือการข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงกับฝ่ายตรงข้าม ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงบางครั้งถูกใช้โดยโดดๆ และบางครั้งถูกใช้ร่วมกับวิธีการสร้างความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ เช่น การรณรงค์เลือกตั้ง ระบบตุลาการ และการเจรจาต่างๆ
การต่อต้านขัดขืนของพลเมือง (civil resistance) ถูกใช้โดยนักวิชาการและนักกิจกรรมบางกลุ่ม
พลังประชาชน (people power) บางครั้งใช้โดยนักข่าว
สัตยาเคราะห์ (Satyagraha) เป็นคำของคานธี แปลตรงตัวได้ว่า “พลังแห่งความจริง”
ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเป็นรูปแบบของปฏิบัติการทางการเมืองที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงความคิดเห็นและสร้างแรงกดดัน ตัวอย่างเช่น การนัดหยุดงานและการคว่ำบาตรสามารถสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจและบางครั้งบีบบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้คือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้ามด้วยการไม่ทำร้ายร่างกายหรือข่มขู่พวกเขา ด้วยเหตุนี้จึงเปิดโอกาสให้การพูดคุยและเจรจาเกิดขึ้นได้
นอกจากนั้น เนื่องจากประชาชนที่เข้าร่วมในปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมักใช้สิทธิมนุษยชนของพวกเขา อันเป็นสิทธิที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย และไม่แสดงการข่มขู่ทางกายภาพ หากตำรวจหรือทหารโจมตีผู้ประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรง ผู้สังเกตการณ์บางส่วนจะเห็นว่าการทำเช่นนี้ผิด เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น มันจึงอาจทำให้ผู้ประท้วงได้รับการสนับสนุนมากขึ้นได้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า “ยิวยิตสูทางการเมือง”
ในสงคราม แต่ละฝ่ายต่างโหมใช้กำลังความรุนแรงเพื่อเอาชนะศัตรู แต่เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้เพียงแรงกดดันแบบไร้ความรุนแรง การใช้กำลังความรุนแรงอาจทำให้เกิดผลสะท้อนกลับมาสู่ผู้โจมตีเอง (backfire)
กลับมาสู่ตัวอย่างในตอนต้นของบทความ มีการประท้วง และผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสันติ แต่บางคนกลับขว้างหินใส่ตำรวจ ขว้างอิฐใส่หน้าต่างร้านค้า ชกต่อยตำรวจ หรือกระทั่งขว้างระเบิดขวด เกิดอะไรขึ้นกันแน่
เมื่อผู้ประท้วงไม่กี่คนใช้ความรุนแรง มีเหตุผลที่เป็นไปได้สองสามอย่างด้วยกัน
1. คนบางคนเริ่มจากการแสดงออกอย่างสันติ แต่ต่อมาโกรธและหาที่ระบาย
นี่เป็นเพราะบางครั้งพวกเขาถูกยุแหย่โดยเจ้าหน้าที่ ตัวอย่างเช่น อาจถูกเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิ และตกเป็นเป้าหมายของการใช้ความรุนแรงตามอำเภอใจและสัดส่วนไม่เหมาะสมจากเจ้าหน้าที่ การประท้วงแบบไม่ใช้ความรุนแรงที่วางแผนมาอย่างดี จะมีการฝึกฝนล่วงหน้าเพื่อช่วยให้ผู้ประท้วงยังคงไม่ใช้ความรุนแรงต่อไปแม้ว่าจะถูกโจมตีก็ตาม ในกรณีเหล่านี้ ผู้จัดจะต้องการให้ทุกคนหลีกเลี่ยงความรุนแรง อย่างไรก็ตาม การฝึกอาจสั้นเกินไป หรือประชาชนที่ไม่ได้เข้ารับการฝึกอาจมาเข้าร่วมการประท้วง นอกจากนี้ ปฏิบัติการบางอย่างยังจัดขึ้นอย่างรวดเร็วบนโซเชียลมีเดีย และผู้ที่เข้าร่วมจำนวนมากไม่ได้รับการฝึกฝนด้านปฏิบัติการไร้ความรุนแรง และบางทีอาจไม่เคยอยู่ในการประท้วงมาก่อน
2. อีกความเป็นไปได้หนึ่งคือนักกิจกรรมบางคนอาจปฏิเสธระเบียบวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรงและอยากพังหน้าต่างหรือปะทะกับเจ้าหน้าที่ ในการวางแผนปฏิบัติการอาจมีการโต้เถียงเกี่ยวกับกลยุทธ์
แม้คนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องจะยึดมั่นในระเบียบวินัยแห่งการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเคร่งครัด แต่คนอื่นๆ อาจโต้แย้งโดยสนับสนุน “ความหลากหลายทางกลยุทธ์” แทน ปกติแล้วนี่หมายถึงการใช้ความรุนแรงต่อทรัพย์สิน (มากกว่าคน) แต่บางทีก็รวมถึงการขว้างสิ่งของใส่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ด้วย
3. อาจมีเจ้าหน้าที่สายลับในหมู่ผู้ประท้วง
คนเหล่านี้มักเป็นตำรวจปลอมตัวมาหรือคนที่ถูกจ้างโดยรัฐบาลให้ใช้ความรุนแรงและทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ประท้วง
ในตอนต่อไป ผมจะร่างเค้าโครงให้เห็นว่าตำรวจและกองกำลังความมั่นคงอื่นๆ จะสามารถทำอะไรได้บ้าง เมื่อพวกเขาต้องรับมือกับผู้ประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรง
ไบรอัน มาร์ติน
ไบรอัน มาร์ติน เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณด้านสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโวลลองกอง ออสเตรเลีย เขาวิจัยเกี่ยวกับปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 โดยมีความสนใจพิเศษในด้านยุทธศาสตร์สำหรับขบวนการเคลื่อนไหวและกลยุทธ์เพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรม เขาเป็นผู้เขียนหนังสือกว่า 21 เล่ม และบทความกว่า 200 ชิ้นในหัวข้อเกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรง ความขัดแย้งทางความคิด (dissent) ข้อถกเถียงในวงการวิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตย การศึกษา และหัวข้ออื่นๆ
Brian Martin is Emeritus Professor of Social Sciences at the University of Wollongong, Australia. He has been researching nonviolent action since the late 1970s, with a special interest in strategies for social movements and tactics against injustice. He is the author of 21 books and over 200 articles on nonviolence, dissent, scientific controversies, democracy, education and other topics.
Read More